วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

วันครู



         ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า ครู คือ ผู้ยกวิญญาณของโลก ให้สูงขึ้นโดยหน้าที่ และโดยสิทธิครู คือ ปูชนียบุคคลของโลก ครูมิใช่เรือจ้างที่จะรับจ้างสอนหนังสือ หรือวิชาบางวิชาในหัวใจของครู มีแต่ปัญญากับเมตตาเคียงคู่กันอยู่ ปัญญาคือความรู้ความสามารถที่จะยกวิญญาณของเด็กให้สูงขึ้น เมตตา คือความรัก ความเสียสละเพื่อทำหน้าที่ของตน โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือเอือมระอา
        ครูนับเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งในด้านวิชาการ และประสบการณ์ ตลอดจนเป็นผู้มีความเสียสละ ดูแลเอาใจใส่สั่งสอนอบรมให้เด็กได้พบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทางในการประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเอง รวมทั้งการนำพาสังคมประเทศชาติก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง
        ด้วยความเห็นสำคัญของครูดังกล่าวมาแล้วนั้น จึงได้กำหนดให้มีวันครูขึ้น ในวันที่ 16 มกราคมของทุกปี เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที และให้ครูเป็นผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูในสังคม
        ประวัติความเป็นมาของการจัดงานวันครู
        ในปีพ.ศ.2499 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมานตรีในสมัยนั้น ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวปราศัยต่อที่ประชุมทั่วประเทศ ถึงความคิดที่จะกำหนดให้มีวันครู และเป็นการสอดคล้องกับความคิดเห็นของครูโดยทั่วไป
        ดังนั้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2599 คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้ วันที่ 16 มกราคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันที่ประกาศพระราชบัญญัติ ครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 เป็น "วันครู"
        วันครูได้ให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาในปีพ.ศ.2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการ เรียกว่า คุรุสภา เป็นนิติบุคคล ให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครู ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
        คำปฏิญาณ
        ข้อ 1.    ข้าจะบำเพ็ญตนให้สมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู
        ข้อ 2.    ข้าจะตั้งใจฝึกสอนศืษย์ให้เป็นพลเมืองดีของชาติ
        ข้อ 3.    ข้าจะรักษาชื่อเสียงของคณะครูและบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
            ความมุ่งหมายในการจัดงานวันครู
            1. เพื่อประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์
            2. เพื่อส่งเสริมความสามัคคีธรรมระหว่างครู
            3. เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

        การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรม ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครู จะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
            1. กิจกรรมทางศาสนา
            2. พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
            3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น